สมรักษ์ คำสิงห์



ผู้โพส! : admin
ดูรายละเอียดผู้โพส!
  
สมรักษ์ คำสิงห์
  • 0 ตอบ
  • 1778 อ่าน
« admin»เมื่อ: 13 ธันวาคม 2563, 10:38 »


“สมรักษ์ คำสิงห์” อดีตนักชกอารมณ์ดี สนุกสนานเฮฮา และมีวลีเด็ดคือ “ไม่ได้โม้” จนได้รับฉายาว่า “โม้อมตะ” เขาเป็นนักกีฬาทีมชาติไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง จากการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น ในกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 26 ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2539 และมีโอกาสได้เข้าเฝ้า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองโอลิมปิก


สมรักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2516 เป็นชาวหมู่บ้านโนนสมบูรณ์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีพี่ชายซึ่งเป็นนักมวยเหมือนกันคือ สมรถ คำสิงห์ โดย สมรักษ์ เริ่มเข้าแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นในนามของโรงเรียนตอนอายุ 12 ปี (พ.ศ. 2528) เมื่อเรียนจบ ม.6 ได้รับการทาบทามจากสโมสรราชนาวีให้ชกมวยสากลสมัครเล่นในนามของสโมสร และจะบรรจุให้เข้ารับราชการในกองทัพเรือด้วย เขาจึงตอบตกลง และประสบความสำเร็จได้ทั้งแชมป์ประเทศไทยและเหรียญทองกีฬาแห่งชาติ


สมรักษ์ เข้าสู่ทีมชาติครั้งแรกในการแข่งขันโอลิมปิก ที่บาร์เซโลนา ในปี พ.ศ. 2535 แต่ตกรอบแรก ต่อมา พ.ศ. 2536 ได้เหรียญทองมวยทหารโลกที่ประเทศอิตาลี แต่ไม่ได้ติดทีมชาติไปแข่งกีฬาซีเกมส์ในปีนั้นเพราะไม่พร้อม กระทั่งในปีถัดมา (พ.ศ. 2537) เขาเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาเป็นครั้งแรก จากการเป็นนักกีฬาไทยที่ได้เหรียญทองเพียงคนเดียว ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 12 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น และโด่งดังถึงที่สุดในปี พ.ศ. 2539 เมื่อคว้าเหรียญทองจากโอลิมปิกมาได้ ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวไทยทุกคน


ภายหลังจากได้เหรียญทองโอลิมปิก สมรักษ์ ก็กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ เขาได้รับรางวัลและการเชิดชูเกียรติจากหลายสถาบัน รวมทั้ง การสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ก็ได้ออกแสตมป์ที่มีรูปการชกรอบชิงชนะเลิศของสมรักษ์ ราคาดวงละ 6 บาท เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์นี้ นอกจากนี้ สมรักษ์ยังได้เลื่อนยศจาก จ่าเอก เป็น เรือตรี อีกด้วย

และด้วยบุคคลิกเฮฮา มีสีสัน น่าสนใจ งานในวงการบันเทิงจึงติดต่อเข้ามาหาเขาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้เขาเอาใจใส่ในการชกมวยน้อยลง จนมีข่าวว่าซ้อมน้อยลงบ้าง หนีซ้อมบ้าง แต่กระนั้นเจ้าตัวก็ยังยืนยันว่าฝีมือของตัวเองยังคงเหมือนเดิม ถึงขนาดกล้าทำนายผลการชกล่วงหน้า ซึ่งก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง จนได้ฉายาว่า “โม้อมตะ” และฝีมือการชกก็ลดประสิทธิภาพลงเรื่อยๆ พ่ายแพ้ในสนามการแข่งขันหลายครั้ง กระทั่งเขาเลิกชกมวยสากลสมัครเล่นอย่างเด็ดขาด ในปี พ.ศ. 2547 หลังจากนั้น นอกจากงานในวงการบันเทิงแล้ว เขาก็รับงานเป็นผู้บรรยายการแข่งขันมวย และมีขึ้นชกมวยในงานเฉพาะกิจอยู่บ้าง


ปัจจุบัน สมรักษ์ยังคงมีงานในวงการบันเทิงอยู่เรื่อยๆ รวมทั้งทำธุรกิจส่วนตัว มีค่ายมวยของตนเอง และเปิดสอนมวยไทยสำหรับผู้ที่สนใจด้วย

ขอบคุณภาพจาก workpointtoday
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 มกราคม 2564, 09:05 โดย admin »