สนามมวยราชดำเนิน ประวัติและความเป็นมา ที่ควรรู้



ผู้โพส! : admin
ดูรายละเอียดผู้โพส!
  
สนามมวยราชดำเนิน ประวัติและความเป็นมา ที่ควรรู้
  • 0 ตอบ
  • 1842 อ่าน
« admin»เมื่อ: 13 ธันวาคม 2563, 10:35 »


สนามมวยราชดำเนิน ประวัติและความเป็นมา ที่ควรรู้

อดีตนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม มีคำสั่งให้สร้างสนามมวยบนถนนราชดำเนิน ในปีพ.ศ. 2484 คำสั่งดังกล่าว มีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายเวนคืนที่ดิน และแจ้งไปยังบรรดาเจ้าของที่ดินตามแนวถนนราชดำเนิน เพื่อรัฐบาลสามารถก่อสร้างอาคารต่างๆ ให้เป็นไปตามผังเมืองที่กำหนดไว้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้รับการมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการนี้ ในเบื้องต้นได้มีการกำหนดให้ สร้างสนามมวย ณ บริเวณสวนมิสกวัน มุมถนนพิษณุโลก และราชดำเนินนอก ต่อมาได้มีการพิจารณาให้เปลี่ยนจาก สถานที่ที่กำหนดไว้เดิม มาเป็นสถานที่ตั้งในปัจจุบัน เนื่องจากสถานที่เดิมมีขนาดเล็กเกินไปสำหรับสนามมวย ปัจจุบันสนามมวยยังคงตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินนอก ตัดกับถนนพะเนียง ตรงข้ามกับโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

บริษัท อิมเพรซี อิตาเลียน ออล เฮ็สเตโร-โอเรียนเต เป็นผู้ทำสัญญาก่อสร้างสนามมวยในปี พ.ศ. 2484 โครงการได้เริ่มขึ้น โดยมีการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 1 มีนาคม โครงการต้องหยุดชะงักในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากขาดแคลนวัสดุก่อสร้าง ต่อมาในปี พ.ศ. 2487 นายปราโมทย์ พึงสุนทร ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานทรัพย์สินฯ ในขณะนั้นได้นำโครงการก่อสร้างสนามมวย เข้าสู่วงการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ท่านได้นำเสนอแผนงานต่อท่านผู้อำนวยการฯ พ.อ. สุวรรณ เพ็ญจันทร์ ซึ่งเห็นชอบและมีคำสั่ง ให้ดำเนินการก่อสร้างสนามมวยให้แล้วเสร็จต่อไป


 
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง การก่อสร้างที่ค้างอยู่ก็เริ่มขึ้นอีกครั้งในเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2488 และกินเวลาสี่เดือนจึงแล้วเสร็จ และในที่สุดสนามมวยแห่งชาติ ก็พร้อมสำหรับการแข่งขันนัดแรกใน วันที่ 23 ธันวาคม โดยมี นายปราโมทย์ พึงสุนทร เป็นผู้จัดการสนามมวย หรือนายสนามมวย และท่านได้ดำรงตำแหน่งนี้จนกระทั่งเกษียร จากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ในปี พ.ศ. 2490

นายประหลาด อิศรางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ในขณะนั้นเข้ารับหน้าที่แทน นายปราโมทย์ และดำรงตำแหน่งผู้จัดการสนามมวยอยู่นานสองปี จากนั้น นายเฉลิม เชี่ยวสกุล ได้เข้ามารับหน้าที่แทน

นายเฉลิม เล็งเห็นถึงปัญหา และความไม่สะดวกนานาประการในการจัดการแข่งขันมวยในที่แจ้ง จึงเสนอให้สร้างหลังคาคลุมพื้นที่ทั้งหมด ม.ล. ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสำนักงานทรัพย์สินฯ ในขณะนั้นเห็นชอบ และมอบให้บริษัท คริสตินี นีลสัน (ประเทศไทย) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างหลังคาพร้อมทั้งต่อเติมที่นั่งให้มากขั้น ทำให้สนามมวยแห่งนี้แล้วเสร็จสมบูรณ์เป็นสนามมวยได้มาตรฐานในปี พ.ศ. 2494

ตลอดระยะเวลาเจ็ดปี ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานทรัพย์สินฯ สนามมวยราชดำเนินประสพการขาดทุนมาตลอด สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงมีแผนที่จะวางมือ และเสนอให้องค์กรเอกชนเช่าสถานที่ และดำเนินกิจการกันเอง (โดยมีเงื่อนไขว่า องค์กรดังกล่าว ต้องมีคนไทยเป็นเจ้าของ) นายเฉลิม ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งผู้จัดการสนามมวยอยู่ ในขณะนั้น เห็นว่าไม่เหมาะสม ที่จะให้องค์กร หรือบุคคลนอกจากวงการมวยมาบริหาร และดำเนินกิจการสนามมวย จึงขออนุมัติจากสำนักงานทรัพย์สินฯ ให้ตนเป็นผู้ดำเนินกิจการสนามมวย และได้ก่อตั้งบริษัท ราชดำเนิน จำกัด ขึ้น เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2496


 
ตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการ บริษัท ราชดำเนิน จำกัด ได้จัดการแข่งขันมวย ณ เวทีสนามมวยราชดำเนินมาตลอด และได้ทำการขยาย และปรับปรุง ระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนพัฒนาสนามมวยอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ยอมรับว่า เป็นสนามมวยที่มีชื่อเสียงในระดับสากล และเป็นสถาบันมวยไทยแห่งหนึ่งในประเทศไทย

รายชื่อนายสนามมวย
รายชื่อนายสนามมวยตั้งแต่ บริษัทเริ่มเข้าดำเนินกิจการราว 30 ปีที่ผ่านมา มีดังนี้

นายเฉลิม เชี่ยวสกุล
นอ. เฉลิมเกียรติ วัฒนรางกูล
นายพร พานิชภักดิ์
นายแนบ ผ่องแพ่ว
นายบัญชา บัณฑุกูล
นายมนู โกสุม
นายมนตรี มงคลสวัสดิ์
นายเฉลิมพงษ์ เชี่ยวสกุล
นายสีลเดช สุวรรณนาคร
นายไพร ปัณยาลักษณ

รูปภาพนายสนามเวทีราชดำเนิน


เกียรติประวัติเวทีราชดำเนิน
กลับไปสู่กาลเวลา ที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้จัดพิธีเปิดเวทีราชดำเนิน เพื่อจัดการแข่งขันอย่างยิ่งใหญ่ครั้งแรก เมื่อวันที่ 23, 24 และ 25 ธันวาคม 2488 นั้น ได้รับการบันทึกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทอดพระเนตรการแข่งขันนัดปฐมฤกษ์ด้วย ยังความปลื้มปีติ และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ แก่คณะผู้บริหารสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และเจ้าหน้าที่เวทีราชดำเนินล้นพ้น

และภายหลังจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เวทีราชดำเนิน และคณะบุคคลในวงการมวยจัดตั้ง “ทุนนักมวยไทยในนูลนิธิอานันทมหิดล” ตามหนังสือสำนักราชเรขาธิการ ที่ 2268/2504 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2504 แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร การแข่งขันชกมวย ที่เวทีราชดำเนินอีก 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2504 และเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2508 ในรายการโดยเสด็จพระราชกุศล “ทุนนักมวยไทยในนูลนิธิอานันทมหิดล” ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 3 นอกจากนั้น ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ไปทรงทอดพระเนตร การแข่งขันชกมวย รายโดยเสด็จพระราชกุศล “ทุนนักมวยไทยในนูลนิธิอานันทมหิดล” ครั้งที่ 6 เมื่อวันพุธที่ 17 มกราคม 2522 ด้วย  สนามมวยราชดำเนิน จึงไม่เพียงแต่เป็นเวทีต้นแบบการจัดการแข่งขันชกมวยในระบบมาตราฐาน ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น แต่เป็นเวทีที่เกิดขึ้นมาด้วยความยิ่งใหญ่ ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มาตั้งแต่การลงเอกสารสร้างเวที ก่อนที่บริษัท เวทีราชดำเนิน จำกัด จะได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้จัดการบริหารในปี 2496 ต่อเนื่อง มาจนถึงปัจจุบัน

โปรโมเตอร์สนามมวยราชดำเนิน


ที่มา : muaythai2000
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 มกราคม 2564, 08:36 โดย admin »