มวยไทยสายลพบุรี



ผู้โพส! : admin
ดูรายละเอียดผู้โพส!
  
มวยไทยสายลพบุรี
  • 0 ตอบ
  • 1214 อ่าน
« admin»เมื่อ: 13 ธันวาคม 2563, 10:34 »
 1. ประวัติความเป็นมาของมวยไทยสายลพบุรี มีวิวัฒนาการและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายอย่าง ทำให้มวยไทยสายลพบุรี แบ่งช่วงเวลาต่าง ๆ ตามความสำคัญเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 อยู่ระหว่าง ปีพุทธศักราช 1200–2198 นับเป็นช่วงเริ่มต้นของมวยไทยสายลพบุรี มีปรมาจารย์สุกะทันตะฤๅษี เป็นผู้ก่อตั้งสำนักขึ้นที่เทือกเขาสมอคอน เมืองลพบุรี มีลูกศิษย์ชุดสุดท้ายคือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ช่วงที่ 2  อยู่ระหว่างปีพุทธศักราช 2199 – 2410 ถือเป็นช่วงสืบทอดของมวยไทยสายลพบุรี ซึ่งมวยไทยสายลพบุรีเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในสมัยนี้ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ ที่ส่งเสริมมวยลพบุรี  อย่างกว้างขวาง มีการจัดการแข่งขัน กำหนดขอบเขตสังเวียนและมีกติกาการชก โดยมีพระพุทธเจ้าเสือ พระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่สนับสนุนมวยไทย และชอบต่อยมวย ถึงขั้นปลอมพระองค์ ไปแข่งขัน ชกมวยกับชาวบ้าน ช่วงที่ 3 อยู่ระหว่างปีพุทธศักราช 2411 – 2487 เป็นช่วงพัฒนาของมวยไทยสายลพบุรี ช่วงนี้มวยไทยสายลพบุรี โด่งดังและเฟื่องฟูจนถึงขีดสุด โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์เรียนวิชามวยจากปรมาจารย์หลวงพลโยธานุโยค พระองค์โปรดมวยมาก เสด็จทอดพระเนตรบ่อยครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดคือ การแข่งขันชกมวยในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช เมื่อวันที่ 19 – 22 มีนาคม พุทธศักราช 2452 ณ เวทีมวยสวนมิสกวัน มีนักมวยไทยสายลพบุรีที่เก่งกล้าสามารถ จนได้รับการกล่าวขานว่า “ฉลาดลพบุรี” คือ นายกลึง โตสะอาด ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หมื่นมือแม่นหมัด และต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีนักมวยดังของลพบุรีอีกหนึ่งคนคือ นายจันทร์ บัวทอง และช่วงที่ 4 อยู่ระหว่างพุทธศักราช 2488 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นช่วงสมัยใหม่ของมวยไทยสายลพบุรี มีนักมวยไทยสายลพบุรีที่เก่งมากเกิดขึ้น อีกสองคนคือ นายทวีศักดิ์ สิงห์คลองสี่ และนายอังคาร ชมพูพวง ซึ่งมีลีลาท่าทางการชกมวยคล้ายหมื่นมือแม่นหมัด คือ ถนัดในการใช้หมัดตรงและหลบหลีกได้คล่องแคล่วว่องไว นับเป็นความหวังใหม่ของมวยไทยสายลพบุรี ที่จะช่วยพัฒนาและฟื้นฟูมวยไทยสายลพบุรีขึ้น โดยได้มี การแข่งมวยในเวทีมวยค่ายนารายณ์เป็นประจำและมีนักมวยเป็นจำนวนมาก

   2. เอกลักษณ์ของมวยไทยสายลพบุรี พบว่า เป็นมวยที่ชกฉลาด รุกรับคล่องแคล่วว่องไว ต่อยหมัดตรงได้แม่นยำ เรียกลักษณะการต่อยมวยแบบนี้ว่า “มวยเกี้ยว” ซึ่งหมายถึง มวยที่ใช้ชั้นเชิงเข้าทำคู่ต่อสู้โดยใช้กลลวงมากมาย จะเคลื่อนตัวอยู่เสมอ หลอกล่อหลบหลีกได้ดี สายตาดี รุกรับ และออกอาวุธหมัดเท้าเข่าศอกได้อย่างรวดเร็ว สมกับ ฉายาฉลาดลพบุรี เอกลักษณ์ที่เห็นชัดอีกประการหนึ่งก็คือ มีการพันข้อมือครึ่งแขน
แต่ที่เด่นและแปลกกว่ามวยสายอื่น ๆ คือ การพันคาดทับข้อเท้าซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมวยไทยสายลพบุรี

    3. กระบวนท่าของมวยไทยสายลพบุรี พบว่า มี 16 กระบวนท่า ได้แก่ กระบวนท่ายอเขาพระสุเมรุ หักงวงไอยรา ขุนยักษ์จับลิง หักคอเอราวัณ เอราวัณเสยงา ขุนยักษ์พานาง พระรามน้าวศร กวางเหลียวหลัง หิรัญม้วนแผ่นดิน หนุมานถวายแหวน ล้มพลอยอาย ลิงชิงลูกไม้ คชสารถองหญ้า คชสารแทงงา ลิงพลิ้ว
และหนุมานถอนตอ ครูมวยและนักมวยไทยสายลพบุรี ได้แก่ ครูดั้ง ตาแดง ครูนวล หมื่นมือแม่นหมัด
นายซิว อกเพชร นายแอ ประจำการ นายเย็น อบทอง นายเพิก ฮวบสกุล นายจันทร์ บัวทอง นายชาญ ศิวา-รักษ์ นายสมทรง แก้วเกิด และครูประดิษฐ์ เล็กคง นับได้ว่า มวยไทยสายลพบุรี เป็นประวัติศาสตร์ของมวยไทย ซึ่งเป็นมวยท้องถิ่นที่เก่าแก่ที่สุดของอาณาจักรสยาม มีอายุถึง 1,356 ปี มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ประวัติความเป็นมาเอกลักษณ์วัฒนธรรมประเพณี
   4. ระเบียบประเพณีของมวยไทยสายลพบุรี แบ่งได้เป็น 3 หัวข้อ คือ
       ก) มวยไทยสายลพบุรี มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับวัดในพุทธศาสนา เนื่องจากแหล่งฝึกมวยเกิดจากพระสงฆ์ ที่อยู่ในวัด
       ข) ความเป็นมาของกระบวนท่าศิลปะมวยไทยสายลพบุรี เป็นกระบวนท่าที่ผสมกลมกลืนจากการหล่อหลอมและเลียนแบบท่าทางของสัตว์ต่าง ๆ เช่น ลิง และ ช้าง ที่มีอยู่มากในเมืองลพบุรี ตลอดจนจากตำนานการสร้างเมืองลพบุรี
     ค) รากเหง้าที่มาของศิลปะมวยไทยสายลพบุรี มาจากหลายสำนักเพราะบรรพชนของมวยไทยที่กระจัดกระจายในแต่ละท้องถิ่น รากเหง้าที่มาจึงไม่ชัดเจน แต่พออนุมานได้ว่า เป็นศิลปะการต่อสู้ที่มาจากองค์ความรู้ที่หลากหลายในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีแนวทางเฉพาะตน การแข่งขันมวยไทยสายลพบุรี มีกติกาการชก กำหนด 5 ยก โดยใช้ยกเวียน การหมดยกใช้กะลาเจาะรูใส่ในโหล เมื่อกะลาจมน้ำถือว่าหมดยก การต่อสู้ใช้อวัยวะได้ทุกส่วนของร่างกาย การเปรียบมวยอยู่ที่ความสมัครใจของผู้ชก ไม่เกี่ยงน้ำหนักหรืออายุ การไหว้ครูเหมือนการไหว้ครูสายอื่น ๆ โดยทั่วไป
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 มกราคม 2564, 08:13 โดย admin »