มวยไทยสายท่าเสาและพระยาพิชัย



ผู้โพส! : admin
ดูรายละเอียดผู้โพส!
  
มวยไทยสายท่าเสาและพระยาพิชัย
  • 0 ตอบ
  • 974 อ่าน
« admin»เมื่อ: 13 ธันวาคม 2563, 10:34 »
1. ประวัติความเป็นมาของมวยไทยสายท่าเสาและพระยาพิชัย พบว่า พระยาพิชัยดาบหัก เดิมชื่อจ้อย เกิดที่บ้านห้วยคา เมืองพิชัย ปัจจุบันคืออำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่ออายุ 8 ปี บิดานำตัวไปฝากเรียนกับท่านพระครูวัดมหาธาตุเมืองพิชัย จากนั้นได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์เรียนมวยกับครูเที่ยงและเปลี่ยนชื่อเป็นทองดี ครูเที่ยงเรียกว่าทองดี ฟันขาว เรียนมวยสำเร็จ ได้ออกเดินทางขึ้นเหนือต่อเพื่อไปเรียนมวยกับครูเมฆแห่งบ้านท่าเสาได้ไปพักอยู่ที่วัดวังเตาหม้อ (วัดท่าถนนปัจจุบัน) และได้ฝึกหกคะเมนตีลังกาเรียนแบบงิ้วแสดงและนำมาฝึกผสมผสานกับท่ามวย จากนั้นได้เดินทางต่อไปจนถึงสำนักมวยครูเมฆแห่งบ้านท่าเสาและได้ฝากตัวเป็นศิษย์ครูเมฆ เรียนมวยอยู่กับครูเมฆจนเก่งกล้า ครูเมฆจึงได้นำไปเปรียบมวยในงานประจำปีวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ได้ชกชนะครูนิลและนายหมึกศิษย์ครูนิล ได้ลาครูเมฆเดินทางต่อไปเพื่อเรียนดาบกับครูเหลือที่เมืองสวรรคโลก พร้อมทั้งได้เรียนมวยจีนหักกระดูกที่เมืองสุโขทัย จากนั้นได้เดินทางผจญภัยต่อไปยังเมืองตากและได้ชกมวยในงานถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเอาชนะครูห้าวครูมวยดังของเมืองตาก จนเป็นที่โปรดปราณของพระยาตาก พระยาตากได้ชักชวนให้อยู่รับราชการเป็นทหารองครักษ์ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงพิชัยอาสา”  ได้ร่วมกับพระยาตากกอบกู้เอกราช ตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงและเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินและโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ “เป็นหมื่นไวยวรนาถ” เป็น “พระยาสิหราชเดโช”และเป็น “พระยาพิชัย” โดยลำดับ พ.ศ.2316 โปสุพลา แม่ทัพพม่า ได้มาตีเมืองพิชัยท่านได้นำทหาร ออกรบและต่อสู้กับโปสุพลาจนดาบหักไปข้างหนึ่ง ท่านได้สมญานามว่า “พระยาพิชัยดาบหัก” ตั้งแต่นั้นมาเมื่อสิ้นสมเด็จพระเจ้าตากสินแล้ว สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2325 ท่านไม่ยอมอยู่เป็น ข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย จึงได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขอถวายความจงรักภักดีถวายชีวิตตาม สมเด็จพระเจ้าตากสิน แต่ขอฝากบุตรชายให้รับราชการสนองพระเดชพระคุณสืบไป พระยาพิชัยดาบหักจึงเป็นที่เคารพรักของคนจังหวัดอุตรดิตถ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จังหวัดอุตรดิตถ์จึงได้จัดงานฉลองวันชัยชนะให้กับท่านระหว่างวันที่ 7–16 มกราคม ของทุกปี

   2. เอกลักษณ์มวยไทยสายท่าเสาและพระยาพิชัย พบว่า มวยไทยสายพระยาพิชัย มีเอกลักษณ์เด่น 5 ประการ คือ การยืนมวยหรือจดมวยยืนน้ำหนักอยู่เท้าหลัง การร่ายรำไหว้ครู ท่านั่งต้องส่องเมฆก่อนยืน มงคลและประเจียด เป็นมงคลถักสีแดงลงอาคมและมีประเจียดข้างเดียว พิธีกรรม เป็นพิธีที่สำคัญมี 3 พิธี ได้แก่ ยกครูหรือขึ้นครู ไหว้ครูและครอบครูไม้มวยมีทั้งอ่อนแข็งอยู่ในคราวเดียวกันจะถนัดเรื่อง การใช้เท้าเป็นอาวุธที่รวดเร็ว

   3. กระบวนท่าของมวยไทยสายท่าเสาและพระยาพิชัย พบว่า มีกระบวนท่าการชก 15 ไม้ ประกอบด้วย หมัดตรง หมัดครึ่งศอก ครึ่งหมัดครึ่งศอกได้ หมัดเหวี่ยงหรือหมัดขว้าง หมัดตบหรือหมัดเหวี่ยงสั้น หมัดตบหรือหมัดเฉียงสั้น หมัดเหวี่ยงขึ้นตรง หมัดเหวี่ยงกลับ หมัดงัด หมัดเสย หมัดสอยดาว หมัดหงาย หมัดเหวี่ยงบนยาว หมัดจิกหรือหมัดฉก หมัดเสือหรือหมัดมะเหงก หมัดคู่ หมัดอัด และหมัดตวัด
        การเตะ 10 ไม้ ประกอบด้วย เตะตรงต่ำ เตะตรงสูง เตะเฉียง เตะเหวี่ยงหรือเตะตัด เตะตวัดกลับ
        เตะหลังเท้า เตะกลับหลัง เตะครึ่งแข้งหรือครึ่งเข่า เตะโขกและเตะตบและกระโดดเตะ
        การถีบ 10 ไม้ ประกอบด้วย ถีบจิก ถีบกระทุ้ง ถีบข้าง ถีบตบ ถีบต่อเข่า ถีบกลับหลัง หรือม้าดีด โดดถีบ ถีบหลอก ถีบยันและเดินถีบ
        การตีเข่า 10 ไม้ ประกอบด้วย เข่าตรงหรือเข่าโทน เข่าเฉียง เข่าโค้ง เข่าเหวี่ยงหรือเข่าตัด
        เข่าเหน็บหรือเข่าหยอกนาง ครึ่งเข่าครึ่งแข้ง เข่ากระชาก เข่าลอย เข่าพุ่งและเข่าคู่
        การศอก 10 ไม้ ประกอบด้วย ศอกตัด ศอกเฉียง ศอกโค้ง ศอกเสยหรือศอกงัด ศอกถอง ศอกจามหรือศอกสับ ศอกพุ่ง ศอกกระแทก ศอกเฉือน ศอกเช็ด ศอกกลับ ศอกคู่

   4. ระเบียบประเพณีของมวยไทยสายท่าเสาและพระยาพิชัย พบว่า แบบแผนประเพณีของมวยไทย สายท่าเสาและพระยาพิชัย ประกอบด้วยการขึ้นครูหรือยกครู การไหว้ครูประจำปี การครอบครู และการรำไหว้ครูก่อนชก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 มกราคม 2564, 08:13 โดย admin »